เพลงเพื่อชีวิตยุคธุรกิจเพลง พ.ศ. 2525 - ปัจจุบัน ของ เพลงเพื่อชีวิต

หลังจากการกลับมาของคาราวานและเพื่อนร่วมอุดมการณ์ คาราวานได้ทำสัญญากับบริษัทเพลง อีเอ็มไอ ประเทศไทย และบันทึกเสียงเพื่อออกอัลบัมอีกครั้ง โดยเพลงที่อยู่ในอัมบั้มเป็นเพลงที่เกิดขึ้นในยุคเพลงเพื่อชีวิต และ เพลงปฏิวัติ และด้วยเครื่องเสียงและเครื่องดนตรีที่มีคุณภาพมากกว่าแต่ก่อน ทำให้คาราวานได้ไปแสดงคอนเสิร์ตฟอร์ยูนิเซฟ ในปีพ.ศ. 2525 จัดขึ้นที่หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีการแสดงเพลง คืนรัง ซึ่งถือเป็นการเริ่มกระแสปรับเข้าสู่ระบบธุรกิจดนตรียุคใหม่ โดยในยุคนี้เพลงเพื่อชีวิตมีวัตถุประสงค์เพื่อการจำหน่าย ต่างจากสมันก่อนที่แต่งเพื่อสนับสนุนอุดมการณ์ทางการเมือง และยังมีการทดลองแนวทางดนตรีใหม่ๆ เช่น สุรชัย จันทิมาธร ใช้วงร็อคเป็นแบ็คอัพ ทำให้คาราวานถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงในเรื่องของความบกพร่องไม่สมบูรณ์ทางการแสดง และเรื่องของอุดมการณ์ แต่พวกเขาก็ได้เรียนรู้และฝึกฝนตัวเองให้ยืนอยู่ได้ในการแข่งขันของธุรกิจเพลงไทยทำให้คาราวานยืนหยัดในฐานะมืออาชีพและความอิสระในวิถีทางของตนที่ชัดเจนและได้รับการยอมรับในที่สุด

ต่อมาได้มีวงที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากในการจัดการระบบธุรกิจ และกลายเป็นวงเพื่อชีวิตที่ประสบความสำเร็จสูงสุด นั่นก็คือวงคาราบาวที่เกิดไล่หลังแฮมเมอร์ได้ไม่นาน เพลงวณิพก ถือเป็นความสำเร็จที่ปลุกกระแสเพลงเพื่อชีวิตขึ้นมากลายเป็นกระแสใหญ่ของวงการเพลงไทยอย่างเต็มที่ นอกจากนี้ทั้ง พงษ์เทพ กระโดนชำนาญ, โฮป, คนด่านเกวียน, กระท้อน, คีตาญชลี, นิรนามในยุคแรก, ซูซู, พงษ์สิทธิ์ คัมภีร์, อินโดจีน และอีกหลายวงเอง ก็มีส่วนเกื้อหนุนให้กระแสเพลงเพื่อชีวิตถาถมรุนแรงจนถึงที่สุด

เพลงเพื่อชีวิตนี้ได้เปลี่ยนเนื้อหาจากบทเพลงประท้วง เพลงแห่งอุดมการณ์ กลายมาเป็นเพลงสะท้อนสังคม ที่คลายความรุนแรงลงไปตายกระแสการเมืองและความเปลี่ยนแปลงทางสภาพเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนเข้าสู่ระบบทุนนิยม และ บริโภคนิยม เพลงเพื่อชีวิตเองก็ได้เข้ามามีพื้นที่ในตลาดเพลงไทย ถือเป็นความสำเร็จในทางยุทธศาสตร์ที่ขยายวงกว้างออกไปแล้ว

อีกด้านหนึ่งเพลงที่มุ่งเน้นที่ปรัชญาความคิดพร้อมกับดนตรีที่เรียบง่ายไม่แพรวพราว ออกมาจากความรู้สึกกับน้ำเสียงและคำร้องที่มีเนื้อหาที่มีสาระต่อสังคม ก็ได้กลายมาเป็นเพลงใต้ดิน ซึ่งควบคู่มากับกระแสการต่อสู้ของนักศึกษาภายหลังยุค 14 ตุลาคมเป็นต้นมา เพื่อแสวงหาแนวร่วมทางความคิด และถูกทำเป็นเทปออกมาขายกันใต้ดิน ไม่มีการเปิดตามสถานีวิทยุ ไม่มีค่ายเทปวางแผนโปรโมทและจัดจำหน่าย มีเพียงโปสเตอร์และสื่อสิ่งพิมพ์ที่กล่าวถึงเท่านั้น เพื่อเป็นการขยายแนวคิดและส่งผลสะเทือนอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ผู้ฟังมีตัวเลือกใหม่ในการซื้อ แนวเพลงของแต่ละคนต่างมีความหลากหลายและมีลักษณะเฉพาะตัว ไม่สนใจว่าต้องมีบุคลิคหน้าตาดี หรือเพลงเพลงต้องมีแนวดนตรีที่เร็วและกระชับ แต่เน้นไปทางการนำเสนอความคิดมากกว่า

ถึงแม้กระแสสังคมจะมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร แต่เพลงเพื่อชีวิตก็ยังคงไว้ซึ่งบทบาทในเนื้อหาทางสาระทางสังคมไทยตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน เป็นเสมือนบันทึกเรื่องเล่าประวัติศาสตร์ของสังคมไทยในแต่ละยุคสมัยและสะท้อนความคิดความรู้สึกของคนในเหตุการณ์สำคัญต่างๆได้เป็นอย่างดี

แหล่งที่มา

WikiPedia: เพลงเพื่อชีวิต http://www.14tula.com/before_index.htm http://www.bloggang.com/mainblog.php?id=easywander... http://www.forlifethailand.com/index.php?option=co... http://books.google.com/books?id=QzX8THIgRjUC&pg=P... http://www.kongkapan.com/webboard/index.php?topic=... http://www.kreenjairadio.com/interview/index.php?c... http://topicstock.pantip.com/chalermkrung/topicsto... http://www.positioningmag.com/content/%E0%B9%80%E0... http://www.raintreepub.com/index.php?lay=show&ac=a... http://news.sanook.com/1263632/